เมื่อพูดถึงของแต่งบ้าน ภาพแรกที่ผุดขึ้นมาในความคิดของใครหลายคนคงเป็นวัสดุที่ทำจากไม้
เซรามิก หรือพลาสติก
เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นวัสดุที่ทั้งหาได้ง่ายและเห็นได้ทั่วไปในชีวิตประจำวัน นอกจากราวตากผ้าและอุปกรณ์ทำครัวแล้ว
น้อยครั้งนักที่เราจะเห็นใครนำเหล็กมาทำเป็นของใช้ในบ้าน และแทบนึกไม่ออกเลยว่าเหล็กจะทำให้บ้านของเราสวยขึ้นได้อย่างไร
แต่สำหรับ Moreover แบรนด์ของตกแต่งบ้านสัญชาติไทยของ
ปุ้ม-นวัต ศักดิ์ศิริศิลป์ และ ตี้-กรวุฒิ กาญจนาบุญมาเลิศ พวกเขามองเห็นความอ่อนช้อยที่ซ่อนอยู่ภายใต้สัมผัสที่แข็งกระด้าง ส่วนผสมของจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ของพวกเขาเปลี่ยนเหล็กให้กลายเป็นของใช้ในบ้านที่ไม่ได้ดูดีแค่หน้าตา
แต่ยังเปิดโอกาสให้ผู้ใช้ได้ออกแบบฟังก์ชันการใช้งานด้วยตัวเอง
ปุ้ม: ผมเริ่มทำแบรนด์หลังจากเรียนจบด้านออกแบบมาไม่นาน
เพราะผมอยากรู้ว่าไอเดียของตัวเองจะมีคนสนใจมากน้อยแค่ไหน ก็เลยไปจ้างโรงงานผลิตของชิ้นแรกแบบไม่รู้เรื่องอะไรเลย
และไปฝากขายตามร้านต่างๆ ที่ขายได้ ฟีดแบ็กที่ได้กลับมาตอนนั้นก็โอเค แต่ผมต้องไปเรียนต่อด้าน
Entrepreneur ที่ลอนดอนพอดีเลยต้องหยุดไว้
หลังจากเรียนจบก็เราก็บอกพี่ตี้ว่าเราอยากทำให้มันเต็มที่และคุยกันเรื่องการขาย การส่งออกให้มันจริงจังมากขึ้น
ตี้: ในช่วงที่ปุ้มไปเรียนต่อผมก็ไปออสเตรเลียมา
ก่อนหน้านี้ผมทำงานด้านครีเอทีฟมาตลอด ไม่ได้เป็นคนที่อยุ่ในอุตสาหกรรม Product Design มาก่อนเลย มีช่วงหนึ่งที่ผมชอบแต่งบ้านมากและไปเรียน Interior
Design เพิ่มเติม พอได้คุยกับปุ้มเรื่องทำแบรนด์ของตัวเองก็เกิดไอเดียขึ้นมาอีก
เราอยากลองทำให้มันเป็นคอลเลกชัน อยากใช้ความคิดสร้างสรรค์จากงานที่เราเคยทำมาใช้กับงานด้านนี้บ้าง
เราก็เลยตัดสินใจร่วมมือกันทำ Moreover ขึ้นมา
ตี้:
แบรนด์ของเราเกิดจากความเชื่อว่า ‘Creative is more’ เพราะเราเชื่อมั่นในพลังของความคิดสร้างสรรค์
คนเราถูกสอนให้คิดว่าความคิดสร้างสรรค์เอาไว้ใช้กับการทำงานเท่านั้น
แต่จริงๆ แล้วความคิดสร้างสรรค์มันอยู่ในทุกวินาทีของชีวิตเลย ตั้งแต่คุณตื่นขึ้นมา
ออกจากบ้านไปทำงาน จนกระทั่งเข้านอน ทุกขั้นตอนในชีวิตเราสามารถเอาความคิดสร้างสรรค์เข้าไปเติมได้หมด
เราเชื่อว่ามันจะทำให้ชีวิตเราสนุกและมีสุนทรียะมากขึ้น มันเลยนำมาสู่แรงบันดาลใจการออกแบบสินค้าของเรา
ปุ้ม: เราอยากให้เขาฝึกใช้ความคิดสร้างสรรค์ทั้งวันเลย เวลาที่เขาใช้ความคิดสร้างสรรค์จริงๆ
จะได้ง่ายขึ้น อีกอย่างที่เราเห็นคืองานดีไซน์สมัยนี้ส่วนใหญ่จะสวยอย่างเดียวและกำหนดวิธีใช้มาตายตัว
แต่งานของเราจะมีช่องว่างประมาณหนึ่งให้เขาสามารถปรับใช้ได้หลากหลาย เราเรียกงานแบบนี้ว่า
Creative
Function เราตั้งใจให้มันเป็นดีไซน์ปลายเปิด เพื่อให้เขาได้จินตนาการและเอาตัวตนของเขาไปเสริมกับของชิ้นนั้นได้
มีกิมมิกให้เขาทำอะไรกับมันได้เพื่อให้ตอบสนองความต้องการของตัวเอง
ตี้: อย่าง Early
bird คอนเซปต์ของมันคือ ‘Ready to begin a new day’ มาจากแนวคิดที่คนเราชอบทิ้งกุญแจบ้าน กุญแจรถ มาถึงก็วางไว้บนโต๊ะ
จะออกไปทีไรก็ลืมทุกทีไม่รู้ว่าวางไว้ไหน เราก็เลยทำเป็นที่แขวนกุญแจ แขวนกระเป๋า
ที่สำคัญตรงปีกมันยังเอาไว้ใส่จดหมาย บิลค่าน้ำไฟต่างๆ ได้ด้วย
นกตัวนี้มันใช้ประโยนชน์ได้หลายอย่าง
นอกจากฟังก์ชันตามที่บอกแล้วยังใช้ตกแต่งผนังได้ด้วย บางคนเขาก็ซื้อไปติดหลายๆ ตัว
ให้มันเหมือนนกบินเป็นฝูง
ลูกค้าบางคนก็ซื้อไปตกแต่งร้านอาหารและใช้เป็นที่แขวนร่มด้วย
ปุ้ม: ปัจจุบันผู้บริโภคมีความใส่ใจเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม และจะมองหาของแต่งบ้านที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น คนส่วนใหญ่จะมองข้ามเหล็ก เพราะคิดว่าไม่อีโค แต่จริงๆ แล้วเหล็กถือว่าเป็นวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสูงเพราะนำมารีไซเคิลได้ 100% เมื่อหมดอายุการใช้งานแล้ว กระบวนการรีไซเคิลเหล็กจะทำได้ง่ายที่สุด เพราะมันนำไปหลอมได้ และนำไปขายต่อเพื่อรีไซเคิลได้ราคาดี
ตี้: อีกข้อดีของเหล็กคือมีอายุเฉลี่ยในการใช้งานนาน ทำให้ของแต่งบ้านที่ทำจากเหล็กอยู่คู่กับบ้านของคุณไปอย่างยาวนานมากกว่าวัสดุชนิดอื่น เราจึงพยายามออกแบบให้ของแต่งบ้านของเรามีความมินิมอล เข้าได้กับทุกยุคทุกสมัย เข้ากับบ้านได้ทุกสไตล์ รวมถึงพยายามใช้ความคิดสร้างสรรค์เข้ามากลบข้อด้อยของเหล็กที่อาจจะดูไม่เป็นมิตรกับบ้านให้ได้มากที่สุด
ปุ้ม: Origami Collection เกิดจากเราสงสัยว่ารูปทรงการพับกระดาษของญี่ปุ่นที่เราคุ้นเคยมาจากไหน
แล้วก็พบว่าจริงๆ แล้วมันมาจากสิ่งรอบตัว แรงบันดาลใจและวัสดุที่เราใช้ในแต่ละคอลเลกชันจึงไม่ได้ยึดติดกับอะไรเป็นพิเศษ
เราทำความเข้าใจก่อนว่าจุดเด่นมันคืออะไร
เอาแรงบันดาลใจนั้นมาออกแบบให้มันเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น เลือกใช้เหล็กเป็นวัสดุ
และแสดงให้ลูกค้าเห็นว่า Creative function ของสินค้าแต่ละชิ้นเป็นอย่างไร
ปุ้ม: ผมเป็น Product Designer มาก่อน ผมค่อนข้างคุ้นเคยกับการทำแพกเกจจิ้งและกระดาษให้เป็นรูปทรงแปลกๆ ชำนาญในการทำของสองมิติให้กลายเป็นสามมิติ พอหันมาทำงานเหล็กบ้างก็ไม่ได้คิดว่ามันจำเป็นต้องพับแค่แกน x และแกน y เท่านั้น แต่เราพับให้มันมีมิติอื่นๆ ได้อีก ผมไปหาช่างฝีมือดีๆ แล้วช่วยกันคิดว่าพับแบบไหนใช้เครื่องมืออะไรบ้างมันถึงจะออกมาดี ภายนอกอาจจะดูเหมือนมันพับง่ายนะ แต่ถ้ารู้ว่ามันเป็นเหล็กแล้วจะเห็นว่ามันพับยากมากกว่าจะออกมาเป็นแบบนี้
ตี้: เราพยายามจะยกระดับงานดีไซน์ในเมืองไทยขึ้นด้วย เราไม่ต้องการให้ทุกคนมองว่าเหล็กมันเอาไปใช้ได้กับแค่อุตสาหกรรมหนักหรือของแต่งบ้านทั่วไปง่ายๆ
เท่านั้น แต่ทำให้ซับซ้อนและเพิ่มมูลค่าให้กับงานของช่างเหล็กได้ มันน่าเสียดายที่ช่างเหล็กหลายคนเก่งมาก
แต่ว่าเขาได้ทำแต่งานพื้นๆ และได้เงินน้อย เมื่อเราเพิ่มดีไซน์เข้าไปคนที่เขามีความสามารถอยู่แล้วเขาก็ทำได้
เขาเกิดการเรียนรู้และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลงานของตัวเองได้มากขึ้น
ปุ้ม: ระหว่างเรียนผมได้เอางานไปโชว์ที่
London Design Week ด้วย เรารับฟีดแบ็กมาแล้วก็เอามาพัฒนาแบรนด์เราเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มความมั่นใจว่ามันเหมาะกับคนต่างชาติด้วย
เพราะของแต่ละประเทศเขาก็ชอบไม่เหมือนกัน กลุ่มเป้าหมายเราคือยุโรปกับเอเชียที่อยู่ในหัวเมืองใหญ่
เราพยายามเก็บฟีดแบ็กจากคนต่างชาติในมหาวิทยาลัย เราอยากรู้ว่าในประเทศเขาใช้งานของแต่งบ้านยังไงแล้วค่อยเอามาพัฒนาแบรนด์ของเราต่อ
เราพยายามทำให้มันเป็น Universal design และครอบคลุมการใช้งานมากที่สุด
ตอนนี้เรามีฝากขายที่ร้าน multi-lifestyle shop ส่วนออนไลน์ก็จะมีขายในแฟนเพจของเรา
มีตัวแทนจำหน่าย
และในอนาคตที่กำลังอยู่ในกระบวนการอยู่คือจะมีเว็บฝากขายที่ส่งออกไปต่างประเทศด้วย
ตี้: ของแต่งบ้านมันก็เป็นความสุขของคนรักบ้าน บางทีเรามีบ้าน บ้านเราไม่จำเป็นต้องใหญ่ ไม่ว่าคุณจะมีสเปซขนาดไหน บ้านก็เป็นหัวใจของชีวิต ทุกคนอยากกลับบ้านแล้วเจอบ้านสวยๆ อยากอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี การมีของแต่งบ้านดีๆ สักชิ้นมันก็เป็นแรงบันดาลใจที่ดี ทำให้เราจัดสภาพแวดล้อมในบ้านของเราให้สวยขึ้น และที่สำคัญมันไม่ได้ดีแค่กับเราคนเดียว แต่มันดีกับคนที่อาศัยอยู่ร่วมกับเราในบ้านและในครอบครัวของเราด้วย เราเลยคิดว่าของแต่งบ้านมันก็เป็นหัวใจของบ้านได้เหมือนกัน
ประเภทธุรกิจ: แบรนด์ของตกแต่งบ้าน
คอนเซปต์: แบรนด์ของแต่งบ้านโดยดีไซเนอร์ไทย เปิดตัวคอลเลกชันใหม่ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากการพับกระดาษสไตล์ญี่ปุ่น
เจ้าของ: นวัต ศักดิ์ศิริศิลป์ (ปุ้ม) อายุ 27 ปี และ กรวุฒิ กาญจนาบุญมาเลิศ (ตี้) อายุ 30 ปี
เว็บไซต์:
Facebook | Moreover
Post a Comment