บ่อยครั้งที่เราเลือกตก แต่งผนังบ้าน ตามคัมภีร์การตกแต่ง แม้แต่การซ่อมแซมหรือต่อเติมก็ยังต้องหาภาพตัวอย่างของสไตล์ต่างๆมาอ้างอิง แต่ครั้งนี้อยากชวนคุณผู้อ่านมาดู ไอเดียแต่งผนัง แบบ “ตามใจฉัน” กันดูบ้าง

โดยการ แต่งผนังบ้าน แบบนี้ถือว่าเป็นสิ่งที่ออกมาจากความรู้สึกและแสดงตัวตนของเราได้เป็นอย่างดี ซึ่งหนึ่งในวิธีเปลี่ยนลุคให้บ้านดูแตกต่างไปจากเดิมก็คือการปรับปรุงผนังหรือกำแพงใหม่

ทางเว็บ คอร์สนายหน้าอสังหาออนไลน์ มีไอเดียการเปลี่ยนผนังเก่าให้กลายเป็นผนังที่ดูดีในแนวขบถเล็กๆ หรือที่เรียกว่า Undecorated Style ซึ่งเป็นการตกแต่งแบบไม่อิงสไตล์ใดๆ อาจดูแหกกฎหรือไม่เนี้ยบไปบ้าง แต่ก็ช่วยเปลี่ยนอารมณ์ให้บ้านดูสนุกขึ้นได้แน่นอน ไม่แน่ว่านี่อาจเป็นแนวทางการตกแต่งที่คุณกำลังมองหาอยู่ก็เป็นได้ครับ

สำหรับผู้ที่ชื่นชอบงานศิลปะหรืออยากให้บ้านมีบรรยากาศเหมือนสตูดิโอวาดภาพ การปล่อยให้รอยสีที่หยดตามผนังและพื้นค่อยๆเปลี่ยนเป็นงานศิลปะอีกงานหนึ่งก็ไม่เลวเลย ในภาพคือร่องรอยของหยดสี และสีส่วนที่ทาเกินจากกรอบเฟรมผ้าใบไปติดบนผนังนั่นเอง

โดยเลือกใช้สีน้ำมันสัก 2-3 สี ลองหยดสีเหล่านั้นลงบนพื้น และใช้แปรงป้ายสีไปบนผนังโดยใช้แผ่นไม้กันเอาไว้ให้เลอะแต่ส่วนขอบที่เกิน ก็จะได้ผนังแนวอาร์ตที่ดูโดดเด่นไม่ซ้ำใคร

สำหรับห้องทำงานหรือโชว์รูมที่มีการเคลื่อนย้ายอุปกรณ์บ่อยๆจนเกิดร่องรอยตามการเสียดสีระหว่างการขยับเคลื่อนย้ายหรือทำงาน นานวันเข้าผนังก็อาจเผยให้เห็นสีสันของสีรองพื้น เกิดเป็นลวดลายที่ขับเน้นพื้นที่ใช้งานให้ดูโดดเด่นขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติ

โดยร่องรอยที่เกิดจากการใช้งานและถูกเสียดสี เราอาจใช้แปรงขัดช่วยให้เกิดร่องรอยเหล่านี้ได้ง่ายขึ้น แต่ถ้าจะลองวิธีที่ง่ายกว่านั้นก็อาจเลือกใช้แปรงทาสี 2-3 ชนิดที่แตกต่างกันเล็กน้อยบนกำแพง ในช่วงรอยต่อระหว่าง 2 สี จะเห็นฝีแปรงคล้ายรอยขูดนั่นเอง

ลองเปลี่ยนสีผนังปูนขัดมันเก่าให้ดูเข้มขึ้นด้วยการใช้สีกรดย้อมคอนกรีต ซึ่งมีเอกลักษณ์ตรงที่ยังทำให้ลวดลายของปูนดูเป็นธรรมชาติอยู่ โดยเมื่อเตรียมความพร้อมของผนังโดยการล้างและไล่ความชื้นออกให้หมดแล้ว การย้อมสีกรดก็สามารถทำได้ทั้งโดยวิธีพ่น ใช้ลูกกลิ้ง และใช้แปรงทา โดยควรใช้ปริมาณสีอย่างพอเหมาะ อย่ามากเกินไปจนสีโชก ถ้าต้องการให้เข้มกว่าปกติกก็ลงสีทับอีกรอบ แล้วจึงรอให้แห้งและทำความสะอาดฝ้าที่เกิดขึ้นก็เป็นอันเสร็จ

สีผนังปูนลอกล่อนเป็นปัญหาที่พบได้ในบ้านที่อายุตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไป แต่หากลองมองให้ดีลักษณะการล่อนเหล่านั้นก็เหมือนงานศิลปะบนผนัง หากนำมาใช้เป็นฉากหลังของชั้นวางของ ก็ช่วยสร้างเรื่องราวที่น่าสนใจได้เช่นกัน

โดยเริ่มจากใช้แปรงทองเหลือขัดสีที่ลอกแต่ยังไม่หลุดเพื่อให้รอยลอกล่อนดูเรียบเนียนขึ้น ไล่ความชื้นออกจากผนัง จากนั้นจึงทาน้ำยาเคลือบเงา ป้องกันไม่ให้ผนังลอกล่อนไปมากกว่าเดิม แต่อาจต้องทำใจว่าในอนาคตสีเก่าก็มีสิทธิ์ลอกล่อนเพิ่มได้

“ทาสีใหม่” เป็นวิธีที่นิยมที่สุดในการปรับปรุงผนังเก่าให้ดูดี แต่บางครั้งก็อาจดูโล้นเลี่ยนไปสักนิด ลองเปลี่ยนมาทำเท็กซ์เจอร์บนผนังจากฝีแปรง ก็เป็นไอเดียที่น่าสนใจไม่น้อย โดยทำความสะอาดผนังเดิม ขัดสีเดิมออก และลงรองพื้นปูนเก่าให้เรียบร้อย จากนั้นทาสีที่เลือกทับได้เลย โดยก่อนสีจะแห้งให้ใช้แปรงลูบไปตามผนังในแนวเดียวกัน โดยลงน้ำหนักให้แตกต่างกันในแต่ละจุด เท่านี้ก็จะได้ผนังที่มีฝีแปรงเหมือนงานศิลปะแล้ว

อยากทำสีให้แตกต่างกันในผนังเดียว จะจบสีเป็นเส้นคมๆก็ดูไม่เข้ากับสไตล์การตกแต่งที่ตั้งใจไว้ ไม่เห็นยาก ลองปล่อยขอบสีให้เลอะๆดูบ้างก็เท่ดี แต่ต้องเลือกสีที่แตกต่างกันในการทาผนัง กลิ้งสีให้เรียบเนียนตามปกติ แต่ใช้แปรงมาทาตกแต่งที่ขอบสีอีกครั้งอย่างจงใจให้ดูเป็นธรรมชาติ

สำหรับผนังอิฐสามารถทำสีใหม่ได้หลากหลาย เช่น การลงสีแต่ด้านหน้าของแนวอิฐและปล่อยร่องด้านในให้ยังคงสีธรรมชาติ ซึ่งจะให้ความรู้สึกเหมือนงาน DIY เข้ากันได้ดีกับการตกแต่งแบบมิกซ์แอนด์แมตช์ร่วมกับงานศิลปะ โดยใช้แปรงแข็งๆทำสีหรือใช้สีกลิ้งทับแนวผนังอิฐโดยใช้สีที่ค่อนข้างหมาด เพื่อให้สีนั้นติดอยู่เพียงด้านหน้าไม่ลงไปจนถึงร่องอิฐ

เทคนิคนี้กลับกันกับข้อที่แล้ว คือการทำสีในร่องของผนังอิฐ ซึ่งช่วยให้แนวผนังอิฐที่อาจดูดิบสามารถเชื่อมโยงกับการตกแต่งอื่นๆได้ง่ายขึ้น เช่น การเลือกใช้สีขาวมาตัดเส้นเพื่อให้ดูเรียบร้อยขึ้น และ สามารถทำได้สองวิธี คือการค่อยๆใช้แปรงทาสีลงในร่องอิฐ และการทาสีทับร่องอิฐแล้วค่อยใช้ฟองน้ำหรือผ้าเช็ดสีออกจากหน้าก้อนอิฐ

อาจลองผสมผสานเทคนิคหลายๆแบบเข้าด้วยกันก็ได้ เช่น การทาสีลงในร่องแล้วค่อยทาสีอื่นๆบนด้านหน้าของก้อนอิฐ เป็นการเปลี่ยนอารมณ์ของผนังอิฐไปตามสไตล์หรือสีสันของการตกแต่ง เช่น การเลือกใช้สีขาว เทา ดำ เพื่อให้เข้ากับงานตกแต่งปูนเปลือยและกระเบื้องสีเทาที่เลือกใช้

เป็นการกำหนดพื้นที่การใช้งานที่แตกต่างกัน หรือสร้างลำดับการเข้าถึงที่แตกต่าง เช่น ผนังด้านหนึ่งอาจทำเป็นมุมนั่งเล่น อีกด้านหนึ่งอาจทำเป็นชั้นวางของที่มีสไตล์แตกต่างกัน โดยทำสีทุกด้านไม่เหมือนกันเลยก็ได้ ไม่ผิดกติกา!!

ทำให้ผนังอิฐยังคงดูคล้ายผนังอิฐเดิมๆในบางส่วน มีความวินเทจแต่ก็ไม่ดิบจนเกินไปโดยการลบสีออกแบบก้อนต่อก้อน และ ทาสีบนผนังอิฐด้วยเทคนิคปกติ แต่ใช้ทินเนอร์เช็ดสีออกจากอิฐบางก้อน อาจลองทำเครื่องหมายไว้บนอิฐก้อนที่จะเช็ดก่อนทาสี เพื่อลองดูองค์ประกอบและการจัดวาง

สำหรับงานสีเก่าที่เริ่มมีคราบและรอยเลอะ เราสามารถให้ช่างใช้กระดาษทรายขัดให้ดูเรียบเนียนคล้ายการทำสีรองพื้นได้ ซึ่งเทคนิคนี้จะให้บรรยากาศเหมือนสตูดิโอศิลปะที่อยู่ระหว่างการทำงานอย่างไรอย่างนั้น ให้ทำเหมือนกับการทำความสะอาดผนังก่อนทาสีใหม่ แต่หยุดที่ขั้นตอนการขัดแต่งก่อนการลงสีรองพื้น อาจให้ช่างขัดแต่พอดีไม่มากจนสีเก่าหายไปและลงน้ำยาเคลือบเงาทับ เพื่อถนอมลวดลายให้อยู่คงทนไปนานๆ

ไม้เก่าที่สีเริ่มลอกจะมองเห็นลายไม้เดิมๆได้เป็นบางจุด เทคนิคนี้ช่วยเสริมให้รู้สึกถึงความเก่าแก่ของของอาคาร เป็นการบอกเล่าเรื่องราวที่อยู่เบื้องหลังได้ดียิ่งขึ้น การใช้แปรงทองเหลืองขจัดสีที่ล่อนออกแต่ยังไม่หลุดให้เกลี้ยงเกลาขึ้น จากนั้นจึงใช้กระดาษทรายละเอียดขัดเพื่อให้ลักษณะการลอกดูสม่ำเสมอมากขึ้น แล้วทาแล็กเกอร์เคลือบไม้ทับอีกทีเพื่อรักษาลวดลาย

เป็นร่องรอยที่เกิดจากความชื้นและไม้เก่าที่ผ่านกาลเวลามายาวนาน ทำให้เห็นลักษณะของการประกอบไม้และเน้นความสวยของโครงสร้างให้ดูชัดเจนมากยิ่งขึ้น สามารถทำตามได้ไม่ยากโดยผสมสีย้อมไม้ให้จางกว่าปกติ แล้วนำไปทาที่ขอบของผนังและโครงสร้างให้สีชุ่ม เมื่อสีย้อมไม้แห้งดีแล้วจะดูเหมือนเป็นโครงสร้างไม้เก่า

จบไปแล้วกับวิธีแต่งผนังบ้านของเราแบบต่างๆ ซึ่งในตอนหน้าเราจะมาพูดถึงวิธีแต่งผนังบ้านของเราด้วยวแบบอื่นๆ กันบ้าง ติดตามอ่านกันได้เลย

ชุตินันท์ หงษ์ทอง, Author

Post a Comment