การจัดบ้าน เป็นเรื่องที่เราทำมันมาทั้งชีวิต แต่สงสัยไหมว่า แล้วทำไมเราต้องทำมันมาตลอดด้วยล่ะ!?
วิธีจัดบ้านในบทความนี้ สรุปและดัดแปลงมาจากหนังสือ “ชีวิตดีขึ้นทุกๆ ด้าน ด้วยการจัดบ้านแค่ครั้งเดียว” โดย คนโด มาริเอะ ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดบ้านอันดับ 1 ของโลก (หน้าปกบอกมาว่างี้) และผสมกับประสบการณ์จัดบ้านส่วนตัวที่ทีมงานของเราได้ลองทำแล้วจริงๆ
วิธีจัดบ้านแบบคมมาริ (KonMari) คือ วิธีจัดบ้านที่คิดค้นโดย คนโด มาริเอะ ซึ่งเน้นความเรียบง่ายและมีประสิทธิภาพ หัวใจสำคัญของคมมาริ คือ การทิ้งสิ่งของที่ไม่มีคุณค่าหรือไม่สำคัญกับชีวิตให้ได้มากที่สุด แล้วลงมือจัดทุกอย่างให้เป็นระเบียบแบบรวดเดียว
เพราะเราจะไม่รู้จำนวนสิ่งของทั้งหมดในบ้าน ส่งผลให้จัดเท่าไรก็ไม่เสร็จซักที กว่าจะจัดอีกห้องเสร็จ ห้องแรกก็กลับมารกอีกแล้ว
ถ้าจัดบ้านมาทั้งชีวิตแล้วยังไม่เป็นระเบียบซักที การจัดบ้านวันละนิดก็ไม่สำเร็จหรอก
ถ้าคิดแบบนี้ได้ เราจะไม่ต้องจัดบ้านบ่อยๆ เพราะเมื่อเราเห็นว่าบ้านที่เป็นระเบียบขึ้นนั้นมันดีต่อชีวิตขนาดไหน เราจะไม่ยอมปล่อยให้บ้านรกอีกเลย
การเก็บของให้เป็นระเบียบ ไม่ใช่การจัดบ้าน แต่เป็นการหลอกตัวเองว่าปัญหาได้รับการแก้ไขแล้ว เพราะสิ่งของส่วนเกินยังคงอยู่ รอวันกลับมารกอีกครั้งนั่นเอง
ก่อนจะเริ่มจัดห้อง คุณต้องมีภาพในหัวแบบละเอียดยิบเลยว่าอยากให้บ้านออกมาเป็นแบบไหน เช่น “อยากให้ห้องสะอาดเรียบร้อยเหมือนโรงแรม ไม่มีของวางเกะกะบนพื้น มีพื้นที่ออกกำลังกายกว้างๆ เล่นโยคะได้”
ถ้ายังนึกภาพไม่ออก ให้หาไอเดียจากในนิตยสารหรือเว็บแต่งบ้านก็ได้ เพื่อที่คุณจะได้มีเป้าหมาย และไม่ล้มเลิกกลางทาง
เลือกเก็บเฉพาะสิ่งของที่สามารถปลุกเร้าความสุขให้คุณได้ อย่าเก็บของที่อาจจะได้ใช้ในอนาคต เพราะคุณไม่มีทางรู้เลยว่าจะได้ใช้จริงไหม
เทคนิคที่ดีที่สุดคือ ถือของชิ้นนั้นไว้ แล้วถามตัวเองว่า มันปลุกเร้าความสุขได้ไหม มันทำให้คุณมีความสุขหรือไม่ ถ้าไม่ได้ก็โยนทิ้งไปซะ ง่ายๆ แค่นี้เอง
ถ้าคุณอาศัยอยู่กับครอบครัว ควรเริ่มจัดสิ่งของของตัวเองก่อน เพราะไปยุ่งกับของของคนอื่นมีแต่จะทำให้ทะเลาะกันเท่านั้น
บางทีแค่ห้องของคุณสะอาด คุณอาจจะพอใจแล้ว และไม่แน่ว่าความสำเร็จของคุณอาจเป็นแรงบันดาลใจให้คนอื่นๆ อยากทำตามก็ได้
ข้อควรระวังคือ ควรรีบทิ้งสิ่งของให้เร็วที่สุด อย่ากองทิ้งไว้ เพราะอาจมีใครบางคนเอาของของคุณไปใช้ต่อ นั่นอาจทำให้งานของคุณไม่เสร็จ และของส่วนเกินจะยังวนเวียนอยู่ในบ้าน
ของบางอย่างแม้ว่าจะไม่ได้ปลุกเร้าความสุขเลย แต่เราก็อาจตัดใจทิ้งไม่ลง วิธีที่ดีที่สุดคือ ให้นึกถึงคุณค่าหรือประโยชน์ของมันที่ทำให้คุณซื้อมาตั้งแต่แรก ถ้ามันทำประโยชน์ข้อนั้นลุล่วงแล้ว ก็ขอบคุณสิ่งที่ของชิ้นนั้นทำมา และทิ้งมันไป
ยกตัวอย่างเช่น ถ้าคุณซื้อเสื้อตัวหนึ่งมา เพราะมันดูสวยมากเมื่ออยู่ในร้าน แต่ปรากฎว่าพอมาลองใส่จริง กลับไม่เหมาะกับคุณเลย นั่นแปลว่า เสื้อตัวนี้ได้ทำหน้าที่สำคัญอย่างหนึ่งคือ มันสอนให้คุณรู้ว่าคุณไม่เหมาะกับเสื้อแบบไหน และมันได้ทำหน้านั้นอย่างสมบูรณ์แล้ว จงขอบคุณมันและปล่อยมันไปซะ
หลักการจัดสิ่งของทีละหมวดหมู่ คือ ควานหาของชนิดเดียวกันจากทั่วทั้งบ้านหรือห้อง มากองรวมกันไว้ แล้วหยิบมันขึ้นมาทีละชิ้น ถามตัวเองว่าของชิ้นนี้ปลุกเร้าความสุขให้คุณหรือไม่ หากไม่ ก็ทิ้งมันไป
วิธีจัดบ้านที่ถูกต้อง ควรเรียงลำดับหมวดหมู่ตามนี้
1. เสื้อผ้า
2. หนังสือ
3. เอกสาร
4. ของจิปาถะ
5. ของที่มีคุณค่าทางจิตใจ
• อย่าเก็บเสื้อผ้าไว้ เพราะคิดว่าใช้ใส่อยู่บ้านหรือใส่นอนได้
• เวลานอนหรืออยู่บ้าน ก็เป็นเวลาสำคัญในชีวิต ยังไงก็ไม่ควรสวมใส่เสื้อผ้าที่ทำให้เราไม่มีความสุข ยิ่งชุดเก่าๆ ไม่ต้องพูดถึง
• การเก็บเสื้อผ้า
• กุญแจสำคัญคือ การจัดเรียงเสื้อผ้าในแนวตั้ง ไม่ใช่ราบไปกับพื้น หรือซ้อนทับกัน
• เพื่อให้วางตั้งได้ จึงต้องพับผ้าให้มีขนาดเล็ก แต่การพับจนเล็กไม่ได้ทำให้ผ้ายับ รอยยับเกิดจากแรงกดจากการวางซ้อนกันต่างหาก
• วิธีการพับเสื้อผ้าตามแบบคมมาริ มีดังนี้ “ก่อนอื่นให้พับเสื้อตามแนวยาวทั้ง 2 ด้านเข้าหากึ่งกลาง จากนั้นจึงพับเก็บแขนเสื้อ พับแขนเสื้ออย่างไรก็ได้ขอแค่ไม่ให้มันโผล่ออกมาเป็นส่วนเกินก็พอ จากนั้นให้จับชายเสื้อแล้วพับครึ่งขึ้นมา ก็ด้วยการพับอีกครั้งให้เหลือครึ่งหนึ่งหรือ 1 ใน 3”
• การจัดเรียงเสื้อผ้า
• แขวนเสื้อผ้าโดยไล่จากซ้ายไปขวา เสื้อผ้าหนักๆ และสีเข้มไว้ด้านซ้าย เสื้อผ้าบางเบาและสีอ่อนไว้ด้านขวา
• การเก็บเสื้อผ้าตามฤดูกาล
• ไม่ควรเก็บเสื้อกันหนาวไว้ในกล่องพลาสติก เพราะสุดท้ายเราจะวางของไว้บนกล่อง จะทำให้หยิบยากจนไม่อยากใส่มันอีก
• ควรเก็บไว้ในลิ้นชักแยก และควรเปิดลิ้นชักให้แสงและอากาศถ่ายเท หรือหยิบมันมาสัมผัสบ้าง
• การเก็บกระเป๋า
• ไม่ควรยัดของอย่างอื่นใส่ในกระเป๋าเพื่อรักษาทรง เพราะจะหยิบกระเป๋ามาใช้ลำบาก
• วิธีที่ดีที่สุดในการเก็บกระเป๋าคือ ใส่กระเป๋าใบเล็กในกระเป๋าใบใหญ่ แต่ไม่ควรใส่เกิน 2 ใบ
• ควรเก็บกระเป๋าที่มีขนาด วัสดุและความถี่ในการใช้งานใกล้เคียงกันไว้ด้วยกัน
• เก็บกระเป๋าทั้งหมดไว้ในตู้เสื้อผ้า แต่ต้องเป็นจุดที่มองเห็น
• เอาของออกจากกระเป๋าทุกวัน โดยเฉพาะใบเสร็จ เศษเหรียญ กระดาษทิชชู่ ฯลฯ ยกเว้นของที่ใช้บ่อย เก็บของเหล่านั้นแบบแนวตั้งไว้ในกล่องใกล้ๆ กับกระเป๋า
• สักวันจะอ่าน = ไม่มีทางได้อ่าน
• ไม่จำเป็นต้องอ่านหนังสือที่อ่านค้างอยู่ให้จบ ถ้าคุณอ่านมันไปแค่ 10 หน้า หน้าที่ของมันก็คือ 10 หน้านั้นแหละ
• เก็บเฉพาะหนังสือที่ปลุกเร้าความสุขได้จริงๆ
• ถ้าไม่ใช่หนังสือที่อ่านบ่อยๆ จริงๆ หรือปลุกเร้าความสุขได้ปานกลาง ก็ทิ้งมันไปเถอะ เพราะช่วงเวลาที่เราได้เจอหนังสือเล่มนั้นเป็นครั้งแรกก็คือช่วงเวลาที่เหมาะแก่การอ่านมันมากที่สุด
• เก็บเอกสารทั้งหมดไว้ด้วยกัน
• แนะนำให้เก็บเอกสารทั้ง 3 หมวดไว้ในแฟ้มที่เปิดได้เหมือนหนังสือ โดยไม่ต้องแบ่งหมวดย่อยอีก เพียงแต่อาจเรียงตามความถี่การใช้งาน
• ควรทำให้แฟ้ม “เอกสารที่ต้องจัดการ” ว่างเปล่าอยู่เสมอ เพื่อสะสางเรื่องต่างๆ ออกไปจากชีวิตให้เร็วที่สุด
• เอกสารประกอบการเรียน
• ขอให้ตั้งใจแน่วแน่เลยว่าจะต้องทิ้งเอกสารที่ได้มาในงานอบรมหรือสัมมนาทั้งหมด
• จงตั้งใจเรียนและนำสิ่งที่เรียนไปใช้ประโยชน์ เพราะถ้าไม่ใช้ เก็บเอกสารไว้ก็เปล่าประโยชน์
• คู่มือและใบรับประกันเครื่องใช้ไฟฟ้า
• อ่านคู่มือให้ละเอียดแล้วทิ้งไปซะ หรือจะเก็บไว้ในแฟ้มเดียวกับเอกสารอื่นก็ได้
• ใบรับประกันเครื่องใช้ไฟฟ้าควรเก็บรวมกันในซองแฟ้มเดียวโดยไม่ต้องแยกหน้าหรือแยกหมวดอีก
• เศษเหรียญ
• กระปุกออมสินก็ไม่ใช่ตัวเลือกที่ดี เพราะเหรียญจะอยู่ในจุดที่เรามองไม่เห็น และก็ไม่ได้นำออกมาใช้เหมือนกัน
• ของขวัญ
• ของขวัญไม่ใช่แค่สิ่งของ แต่เป็นช่องทางในการถ่ายทอดความรู้สึกของอีกฝ่าย คุณไม่จำเป็นต้องรู้สึกผิดถ้าจะโยนของขวัญทิ้งไป ขอเพียงกล่าวขอบคุณของขวัญชิ้นนั้นที่ให้ความสุขกับคุณตอนที่รับมันมาก็พอ
• บ้านพ่อแม่ไม่ใช่ที่เก็บของเก่า
• การที่เรามีบ้านอีกหลัง หรือบ้านของพ่อแม่ไว้ส่งของไปเก็บนั้น ก็ไม่ใช่เรื่องดี เพราะสุดท้ายแล้วของเหล่านั้นก็จะถูกปิดตายอยู่ดี
• สิ่งของที่เตือนให้ระลึกถึงลูก
• ถึงจะเป็นของที่ชวนให้นึกถึงความน่ารักในวัยเด็กของลูก ก็ควรทิ้งไปอยู่ดี ลูกของคุณอาจจะลืมไปแล้วด้วยซ้ำ (ผู้เขียน: เอาใจใส่ลูกในปัจจุบันดีกว่าหวงของเก่านะ)
• ภาพถ่าย
• เป็นสิ่งที่ใช้เวลานานและเสี่ยงที่จะทำให้การจัดบ้านหยุดชะงักที่สุด จึงต้องทำเป็นอย่างสุดท้าย
• ของที่ใช้งานบ่อยไม่จำเป็นต้องอยู่ใกล้กันเสมอไป
• แชมพู สบู่ เมื่อใช้เสร็จแล้ว ควรเช็ดให้แห้งและเก็บไว้ในตู้ ดีกว่าปล่อยทิ้งไว้ข้างนอกให้โดนความชื้นจนมีคราบสะสมที่ขวด
• เครื่องปรุง ควรเก็บไว้ในตู้ ไม่ควรเก็บไว้ข้างเตา เพราะจะโดนน้ำมันกระเด็นใส่จนเป็นคราบเช่นกัน และทำให้ทำความสะอาดเตายากด้วย
• ฟองน้ำ จาน ชาม เมื่อล้างจานเสร็จแล้ว ควรผึ่งให้แห้ง แล้วใส่เข้าตู้ให้เร็วที่สุด แม้แต่ฟองน้ำเอง ก็ไม่ควรตั้งไว้ข้างอ่างล้างจาน เพราะจะทำให้ชื้นอยู่ตลอดเวลา
1. ค้นพบสิ่งที่อยากทำอย่างแท้จริง
2. สร้างความเชื่อมั่นให้ตัวเอง
3. อยู่กับปัจจุบัน ไม่ยึดติดอดีตและกังวลกับอนาคต
4. รู้ว่าอะไรจำเป็นกับเราจริงๆ
5. สุขภาพดีขึ้น
• บ้านเป็นระเบียบและสะอาดขึ้นจริงๆ
• ถึงบ้านจะไม่ได้เป็นระเบียบตามที่หวังไว้ (เพราะติดปัญหาบางอย่างตามด้านล่าง) แต่ก็จัดบ้านครั้งต่อๆ ไปง่ายขึ้นมาก เพราะของน้อยลงจริงๆ (ใช้เวลาไม่ถึง 1 ชั่วโมงก็จัดเสร็จ)
• คิดก่อนเอาของเข้าบ้านมากขึ้น
• ก่อนซื้อเสื้อผ้าจะลองจนกว่าจะพอใจ ถ้าไม่พอดีจริงๆ จะไม่ซื้อเด็ดขาด เพราะรู้ว่าสุดท้ายแล้วต้องทิ้งอยู่ดี
• ไม่รับของฟรี หรือของจับฉลากพร่ำเพรื่ออีก เช่น ถ้ามีการเล่นบัดดี้กันในออฟฟิศ ก็ขอบัดดี้เราไปเลยว่าอยากได้อะไร
• ไม่บ้าสมบัติเหมือนเมื่อก่อน
• แม้แต่ของที่มีคุณค่าทางจิตใจวัยเด็ก ก็ไม่ได้สนใจมากแล้ว ตัดใจทิ้งได้ง่ายๆ
• หนังสือที่เคยเป็นของสะสมก็น้อยลง จนเหลือเฉพาะเล่มที่ชอบจริงๆ และมีแนวโน้มน้อยลงอีก
• เฟอร์นิเจอร์ไม่พอ
• ตามที่คนโด มาริเอะบอก ขนาดห้องไม่ใช่ปัญหา แต่ห้องทีมงานของเรามีเฟอร์นิเจอร์และกล่องเก็บของน้อยเกินไป ทำให้ของบางอย่างไม่มีที่เก็บเป็นกิจจะลักษณะ
• พอไม่มีที่เก็บ ก็จะเริ่มทำความสะอาดยาก ทำให้ห้องไม่สะอาดเหมือนช่วงแรกหรือกลับมารกอีก (แต่ก็จัดง่ายขึ้นเพราะของน้อย)
• บางข้อใช้ไม่ได้จริง เช่น
• การพับผ้า ปรากฎว่าพับตามหนังสือแล้ว ก็ยับอยู่ดี (แต่ก็ยังดีกว่าซ้อนทับกัน เพราะซ้อนทับไม่ใช่แค่ยับ แต่ยังเละตอนหยิบด้วย)
• การแขวนเสื้อเรียงตามสี รู้สึกว่ายุ่งยากเกินไป แขวนๆ ไปเถอะ อาจจะดูไม่เนี้ยบ 100% แต่ก็เป็นระเบียบมากแล้ว เพราะของน้อยลงเยอะ
• แค่ทิ้ง กับ จัดให้เป็นระเบียบ ไม่พอ
• ปัญหาอีกข้อหนึ่งของทีมงานก็คือ การทำความสะอาด ซึ่งคนโด มาริเอะ ไม่ได้พูดถึงละเอียดซักเท่าไร
• แม้ว่าบ้านจะเป็นระเบียบแล้ว แต่ถ้าไม่ขยันทำความสะอาด ก็ยังถือว่าไม่เป็นระเบียบเท่าที่ควรอยู่ดี
• ข้อนี้ โทษคนโด มาริเอะ อย่างเดียวก็ไม่ได้ เพราะต้นเหตุอาจจะเป็นเพราะเฟอร์นิเจอร์ไม่พอด้วย
• ไม่สามารถจัดบ้านเพียงครั้งเดียวได้จริงๆ
• ครั้งแรกเราจะยังตัดใจทิ้งได้ไม่เก่งนัก และหลังจากจัดเสร็จ เราก็อาจยังซื้อของที่ไม่เหมาะกับเราจริงๆ เข้ามาอยู่บ้าง
• เวลาเปลี่ยน ความสนใจเปลี่ยน ข้าวของเครื่องใช้ก็เก่าลง อะไรที่เคยปลุกเร้าความสุข ก็ไม่เหมือนเดิมแล้ว แนะนำว่าจัด Big Cleaning Day ปีละ 1 ครั้งกำลังดี
สำหรับบทความต่อไป ทีมงานของเราจะมาแชร์วิธีอุดรอยรั่วของคมมาริกัน นั่นก็คือ วิธีทำความสะอาดบ้านสำหรับคนขี้เกียจนั่นเอง อย่าลืมติดตามกันนะ!
Post a Comment